พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถปรับปรุงสยามประเทศให้เจริญทัดเทียมนานา อารยประเทศ ทรงรับเอาศิลปวิทยาการและความคิดสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการปกครองประเทศ ด้วยเหตุนี้องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) จึงได้ประกาศยกย่องพระเกียรติคุณของพระองค์ให้ทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลกด้วย พระราชกรณียกิจและพระเกียรติคุณนานัปการ โดยเฉพาะพระราชกรณียกิจด้านดาราศาสตร์

เนื่องด้วยพระองค์ทรงสนพระทัยวิชาคณิตศาสตร์และวิชาดาราศาสตร์ในตำรา โหราศาสตร์ของไทย ในที่สุดพระองค์ทรงค้นคิดวิธีการคำนวณปักข์ (ครึ่งเดือนทางจันทรคติ) โดยอาศัยหลักตำราสารัมภ์ของมอญ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดวันธรรมสวนะ (วันพระ) ให้ถูกต้องตามการโคจรของดวงจันทร์ที่เรียกว่า ปฏิทินปักขคณนา ยิ่งกว่านั้น พระองค์ได้ทรงคิดสูตรสำเร็จในการคำนวณปักข์ออกมาในรูปกระดานไม้สี่เหลี่ยม ผืนผ้า มีเครื่องหมายเรียงเป็นแถว ๑๐ แถว แต่ละแถวมีจำนวนต่างกัน และมีเครื่องหมายแทนดวงดาว ๕ ดวง เดินเคลื่อนไหวเหนือแถวเหล่านั้นคล้ายกับเดินตัวหมากรุก ก็จะได้วันพระที่ถูกต้องโดยไม่ต้องเสียเวลาคำนวณ เรียกว่า กระดานปักขคณนา ปัจจุบันนี้คณะธรรมยุตยังคงใช้กันอยู่ สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นสาเหตุที่จุดประกายให้พระองค์ทรงเริ่มสนพระทัยในวิชา ดาราศาสตร์อย่างจริงจัง

ในพระราชฐานของพระองค์ทั้งที่กรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดจะมีหอดูดาว โดยเฉพาะหอชัชวาลเวียงไชยนี้มีความสำคัญมากในประวัติศาสตร์วิชาดาราศาสตร์ ของไทย ด้วยมีพระราชประสงค์จะให้เป็นสถานที่สังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ในการรักษา เวลามาตรฐานของประเทศไทยต่อไป ดังนั้นหอนี้จึงเป็นอนุสรณ์แห่งสัมฤทธิผลในทางวิทยาศาสตร์เรื่องระบบเวลา พระองค์ทรงสถาปนาระบบเวลามาตรฐานขึ้นในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๕ โดยสร้างพระที่นั่งภูวดลทัศไนยขึ้นในพระบรมราชวัง ใช้เป็นหอนาฬิกาหลวงบอกเวลามาตรฐานของประเทศไทยสมัยนั้น โดยมีพนักงานตำแหน่งพันทิวาทิตย์ เทียบเวลาตอนกลางวันจากดวงอาทิตย์ และพันพินิตจันทรา เทียบเวลาตอนกลางคืนจากดวงจันทร์

นอกจากนี้พระองค์ยังได้ทรงคำนวณเหตุการณ์ล่วงหน้าถึง ๒ ปีว่า วันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ จะเกิดเหตุการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงในประเทศไทย ที่ที่จะเห็นเหตุการณ์สุริยุปราคาชัดเจนที่สุดก็คือ หมู่บ้านหัววาฬ ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระองค์จึงเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรเหตุการณ์สุริยุปราคาที่นั่น และเหตุการณ์ก็เป็นไปตามที่พระองค์ทรงพยากรณ์ทุกประการ ไม่คลาดเคลื่อนแม้แต่วินาทีเดียว ทางสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย โดยเฉพาะทางด้านดาราศาสตร์จึงคิดกันว่า น่าจะถือว่าวันนี้เป็นวันวิทยาศาสตร์ของไทย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติในการประชุม เมื่อวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕ เพื่อเทอดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็น "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย" พร้อมทั้งกำหนดให้วันที่ ๑๘ สิงหาคมของทุกปีเป็น "วันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ"

ดังนั้น ในวันที่ ๑๘ สิงหาคมของทุกปี ได้มีการจัดงานวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติขึ้นทั่วประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นต้นมา โดยมีกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการพลังงานเป็นหน่วยงานหลักในการจัดร่วมกับหน่วยงานอื่นที่ เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งภาครัฐ และเอกชน ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๒๗ งานวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติได้รับการขยายให้เป็นงาน "สัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ" ในงานนี้มีการจัดกิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากมาย เช่น นิทรรศการ ผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ รวมทั้งการแข่งขันโครงการทางวิทยาศาสตร์ และสื่อการสอนวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีการมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นในสาขาวิชาต่างๆ อีกด้วย

วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

๑. เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและพระปรีชาสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย"
๒. เพื่อเป็นการส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ
๓. เพื่อสนับสนุนให้กำลังใจและโอกาสแก่นักวิจัย นักประดิษฐ์ ได้แสดงผลงานต่อสาธารณชน
๔. เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่าภาครัฐและเอกชนในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปใช้ในการพัฒนาประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
๕. เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศทางวิทยาศาสตร์ อันเป็นวิถีทางหนึ่งของการแก้ปัญหาการขาดแคลนกำลังคนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

บรรณานุกรม :
ชลิยา ศรีสุกใส. วันสำคัญ ประเพณี การละเล่นของไทย. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์พีบีซี, มปป.
วรนุช อุษณกร. ประวัติวันสำคัญที่ควรรู้จัก. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, ๒๕๔๓.
เสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, สำนักงาน. สดุดีบุคคลสำคัญ เล่ม ๑๘. กรุงเทพฯ : ศรีเมืองการพิมพ์, ๒๕๔๗.